หญ้าเทวดาหรือหญ้าปักกิ่งกับการรักษาโรคมะเร็ง กลุ่มงานวิจัย สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ดร. ผ่องพรรณ ศิริพงษ์
หัวหน้างานวิจัยสมุนไพร กลุ่มงานวิจัย
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของประชากรไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆปี ยารักษา โรคมะเร็งที่ใช้ในทางการแพทย์ ก็มีแต่ยาแผนปัจจุบันที่มีราคาแพง ซึ่งจะต้องนำเข้า จากต่างประเทศทั้งหมด ทั้งในรูปยาสำเร็จรูปหรือวัตถุดิบ อีกทั้งยังพบว่ามีผลข้างเคียงสูง
ทางเลือกอีกทางหนึ่งของผู้ป่วยโรคมะเร็ง จึงหันมานิยม ใช้สมุนไพรพื้นบ้านเพื่อนำมารักษา โรคมะเร็งที่เป็นอยู่ สมุนไพรจากประเทศจีนชนิดหนึ่งซึ่งมีผู้นำมาเผยแพร่ ประมาณ 30 ปี มาแล้วและปัจจุบันก็ยังคงนิยมใช้อยู่อย่างแพร่หลาย คือหญ้าเทวดาหรือหญ้าปักกิ่ง หรือเรียกชื่อ ภาษาจีนว่า เล่งจือเฉ้า
หญ้าเทวดา หรือหญ้าปักกิ่งหรือ เล่งจือเฉ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murdania loriformis (Hassk) Rolla Rao et Kammathy อยู่ในวงศ์ Commelinaceae เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว แต่ไม่ใช่พืชในวงศืหญ้าทั่วไป เป็นไม้ล้มลุก สูง ประมาณ 7-10 ซ.ม. และอาจสูงได้ถึง 20 ซ.ม. ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ความยาวไม่เกิน 10 ซ.ม. ดอกออกเป็นช่อที่ ปลายยอด รวมกันเป็นกระจุกแน่น กลีบดอกมีสีฟ้าปนม่วง ใบประดับกลม ยาวประมาณ 4 ม.ม. ร่วงง่าย เป็นพืชที่ ชอบดินร่วน หรือดินปนทราย งอกงามในที่มีแดดรำไร ไม่ต้องการน้ำมากเพาะปลูก โดยการเพาะชำ หรือเพาะเมล็ด ปลูกได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องมีเนื้อที่มาก
ตามสรรพคุณของตำรายาจีน จะใช้หญ้าปักกิ่งรักษาโรคในระบบทางเดินหายใจและกำจัดพิษ โดยจะใช้ทั้ง ต้นหรือส่วนเหนือดิน (ลำต้นหรือใบ) ที่มีอายุ 3-4 เดือน (ตั้งแต่เริ่มออกดอก)
ประวัติความเป็นมาของการใช้หญ้าเทวดาหรือหญ้าปักกิ่งในประเทศไทย
หญ้าเทวดา หรือ หญ้าปักกิ่ง หรือ เล่งจือเฉ้า เป็นพืชสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน แถบสิบสองปันนา มีการนำเข้ามาและปลูกแพร่หลายในประเทศไทย เมื่อ ปี พ.ศ. 2527 มีผู้ป่วยมะเร็งดื่มน้ำคั้นสดจากหญ้าปักกิ่งเพื่อ รักาาและบรรเทาอาการจากโรคมะเร็ง พบว่าสามารถยืดชีวิตต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง บางรายใช้หญ้าปักกิ่งร่วมกับการ รักษาแผนปัจจุบันเพื่อลดผงข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยาเคมีบำบัด และเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วย โรคมะเร็งรายหนึ่งที่แพทย์บอกว่าจะมีชีวิตอยู่อีก 3 เดือน ขอให้นำผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้าน แต่เมื่อผู้ป่วยกลับ บ้านและดื่มน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง
หลังจากนั้น 1 ปี ผู้ป่วยดังกล่าวยังมีชีวิตอยู่และกลับไปให้แพทย์คนเดิมตรวจ ผลจากผู้ป่วยรายนี้จึงทำให้เกิดการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของพืชชนิดนี้เกิดขึ้น
จุดประสงค์ของการใช้หญ้าปักกิ่ง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- การใช้หญ้าปักกิ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยมีสรรพคุณว่า
– เพื่อให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น ลดความทุกข์ทรมาน บางรายมีอายุยืนยาวมากขึ้น
– เพื่อช่วยลดอาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด - การใช้ในผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่ผู้ป่วยมะเร็ง
– เมื่อผู้ป่วยมีเม็ดเลือดขาวต่ำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เมื่อใช้หญ้าปักกิ่ง พบว่าเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
– ผู้ป่วยเป็นแผลเรื้อรัง แผลอักเสบมีหนองหรือน้ำเหลืองไหล เมื่อใช้หญ้าปักกิ่ง พบว่าแผลแห้ง ไม่มีหนองและน้ำเหลือง
ผลการวิจัยศึกษาหญ้าเทวดาหรือหญ้าปักกิ่ง
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ :
น้ำคั้นสดจากหญ้าปักกิ่ง มีสารกลัยโคสฟิงโคไลปิดส์ (จี 1 บี) มีชื่อทางเคมีว่า 1-?-O-D-glycopyranosyl-2-
(2′-hydroxy-6′-ene-cosamide)-sphingosine (G1b) นอกจากนั้น ยังพบสารกลุ่มต่างๆได้แก่ คาร์โบไฮเดรต กรดอะ
มิโน กลัยโคไซด์ ฟลาโวนอยด์ และอะกลัยโคน(1-2)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา:
- – สารกลัยโคสฟิงโกไลปิดส์ (จี 1 บี) แสดงฤทธิ์ยับยั้งปานกลางต่อเซลล์มะเร็งเต้านมและลำไส้ใหญ่ (SW 120) โดยมีค่า ED50?16 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร (1-3)
- สารจี 1 บี แสดงผลปรับระบบภูมิคุ้มกัน (1-3)
- สารสกัดแอลกอฮอล์ของหญ้าปักกิ่งไม่ได้ช่วยยืดอายุ แต่ผลทางพยาธิวิทยาพบว่าสามารถลดความ รุนแรงของการแพร่กระจายของมะเร็งในหนูได้ จึงคาดว่าสารสกัดดังกล่าวอาจใช้ป้องกันการเกิด มะเร็งได้ (1-3) สารสกัดหญ้าปักกิ่ง มีฤทธิ์ต้านการกลายพันธุ์ของยีนที่เกิดจากสารก่อกลายพันธุ์ชนิดต่างๆ เช่น AFB1(4)
- สารสกัดหญ้าปักกิ่งมีฤทธิ์เหนี่ยวนำเอนไซม์ DT-diaphorase ซึ่งมีบทบาททำลายสารพิษที่ ก่อให้เกิดมะเร็ง(5-6)
ความเป็นพิษ
- ความเป็นพิษเฉียบพลัน น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่ง ไม่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านการเจริญเติบโต ชีวเคมีในเลือด และพยาธิสภาพของอวัยวะสำคัญในหนูขาว ค่า LD50 เมื่อให้โดยการป้อนในหนูขาว มากกว่า 120 กรัม/กิโลกรัมน้ำหนักตัว ซึ่งเทียบเท่า 300 เท่าของขนาดที่ใช้รักษาในคน จัดว่า ค่อนข้างจะปลอดภัย(7)
- ความเป็นพิษเรื้อรัง พบว่า น้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งขนาดที่ใช้รักษาในคน มีความปลอดภัยเพียงพอ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน(8)
ขนาดและวิธีใช้แบบดั้งเดิม
- ดื่มน้ำคั้น 2 ช้อนโต๊ะ (30 มิลิลิตร) วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็นก่อนอาหาร ขนาดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ น้ำหนักตัวเฉลี่ย 60 กิโลกรัม ถ้าเป็นเด็กควรลดขนาดลงครึ่งหนึ่ง
- ถ้าใช้สำหรับการปรับระบบภูมิคุ้มกัน จะรับประทานยาไม่เกิน 4-6 สัปดาห์ และควรหยุดยาดังนี้ รับประทานติดต่อกัน 5-6 วัน หยุดยา 4-5 วันเช่นนี้จนกว่าครบกำหนด
วิธีเตรียม
- นำส่วนเหนือดินหรือทั้งต้น น้ำหนักประมาณ 100-120 กรัม หรือจำนวน 6 ต้น ล้างให้สะอาด
- หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และโขลกในครกที่สะอาดให้แหลก เติมน้ำสะอาด 4 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร)
- กรองผ่านผ้าขาวบาง
ผลข้างเคียง
- ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น 0.5-1 องศาเซลเซียส
ข้อควรระวัง
- หากใช้เกินขนาด จะมีผลกดระบบภูมิคุ้มกัน
ข้อควรคำนึงในการดื่มน้ำคั้นหญ้าปักกิ่งสด
- หญ้าปักกิ่งเป็นสมุนไพรคลุมดิน ให้มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์จากดินมาที่ต้นและใบของ หญ้าปักกิ่ง การนำหญ้าปักกิ่งมารับประทานสดต้องแน่ใจว่า ได้ล้างหลายครั้งจนสะอาดปราศจาก เชื้อจุลินทรีย์ เพราะถ้าล้างไม่สะอาดเพียงพอ เมื่อดื่มน้าคั้นสดจากหญ้าปักกิ่ง ก็จะเป็นการดื่มเชื้อ จุลินทรีย์เข้าไปในร่างกายผู้ป่วย ซึ่งย่อมมีภูมิต้านทานต่ำ จึงอาจจะเป็นอันตรายมากกว่าคนปกติ
- หญ้าปักกิ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายหญ้าอื่นๆหลายชนิด เช่น หญ้ามาเลเซีย ฯลฯ ซึ่งไม่มีประโยชน์ทางยาเคยมีผู้บริโภคที่ซื้อหญ้าปักกิ่งตามท้องตลาดมาบริโภคด้วยราคาแพงแต่ไม่ใช่ชนิดที่ต้องการ ดังนั้นก่อนจะซื้อมาบริโภคจะต้องมั่นใจว่าเป็นหญ้าปักกิ่งที่ต้องการจริง
- หญ้าปักกิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้ป่วย ต้องเป็นต้นที่มีอายุที่เหมาะสมดังนี้ คือ หญ้าปักกิ่งที่ปลูกโดยการชำกิ่ง ต้องมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนหญ้าปักกิ่งที่ปลุกด้วยการเพาะเมล็ด ต้องมีอายุมากกว่า 5 เดือนขึ้นไป จากการศึกษาพบว่าหญ้าปักกิ่งที่มีอายุไม่ครบเวลาดังกล่าว จะไม่มีการ สร้างสาร G1b ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ทางยา ดังนั้นการซื้อหญ้าปักกิ่งมาบริโภคนั้น ต้องมั่นใจว่าเป็นหญ้าปักกิ่งจริง เก็บเกี่ยวในขณะที่มีอายุครบเกณฑ์ที่ กำหนดตามวิธีการเพาะชำนั้นๆ จึงจะได้คุณประโยชน์สูงสุดดังประสงค์ มิฉะนั้นก็จะเป็นการบริโภคหญ้าดังกล่าวที่สูญเปล่า ไม่ได้คุณสมบัติตามต้องการและอาจจะได้รับพิษ ถ้าในกรณีเลือกสมุนไพรชนิดอื่นมาบริโภค
ภาวะปัจจุบันของการพัฒนาหญ้าปักกิ่งที่ใช้เป็นยา
ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรม ได้นำเอาหญ้าปักกิ่งมาพัฒนาเป็นยาเม็ด โดยยาทุก 2 เม็ด มีคุณค่าเท่ากับ ต้นหญ้าปักกิ่ง จำนวน 3 ต้น โดยกำหนดขนาดรับประทาน ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย โดยมีระยะเวลาการรับประทานขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การใช้ยาดังนี้ คือ
- ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงจากรังสีบำบัดหรือยาเคมีบำบัดผู้ป่วยมะเร็ง จะรับประทาน 7 วัน หยุด 4 วัน
- ใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการกลับเป็นซ้ำอีก หลังจากการรักษาแล้ว โดยรับประทาน 7 วันหยุด 4 วัน เช่นนี้ติดต่อกันประมาณ 1 ปี และตรวจมะเร็งปีละ 2 ครั้ง
- ใช้เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นโรคมะเร็ง รับประทาน 7 วัน หยุด 4 วัน เช่นนี้ติดต่อกัน เป็นเวลานานไม่เกิน 6-8 สัปดาห์ โดยใช้เแพาะช่วงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเช่น ขณะติดเชื้อไวรัส
เอกสารอ้างอิง
- วีณา จิรัจฉริยากูล สารต้านมะเร็งจากหญ้าปักกิ่ง จุลสารข้อมูลสมุนไพร 2542; 16(3): 10-13.
- วีณา จิรัจฉริยากูล รายงานผลความก้าวหน้าของโครงการวิจัยหญ้าปักกิ่ง หนังสือรวบรวมผลงานการวิจัย โครงการพัฒนาการใช้สมุนไพรและยาไทยทางคลินิก ปี 2526-2536 คณะกรรมการโครงการพัฒนาการใช้สมุนไพรและยาไทยทางคลินิก มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 185-195.
- Weena Jiratchariyakul, Primchanien Moomgkarndi, Hikane Okabe, Frahm A.W. Investigation of anticancer components from Murdania loriformis (Hassk) Rolla Rao et Kammathy. Phama Indochina 1997; 171-191.
- Intiyot Y, Kinouchi T, Kataoka K, Arimochi H, Kuwahara T, Vinitketkumnuen U, Ohnishi Y. Antimutagenicity of Murdanis loriformis in the Salmonella mutation assay and its inhibitory effects on azoxymethane-induced DNA methylation and aberrant crypt focus formation in male F344 rats. J. Med. Invest. 49(1): 5-14.
- Vinitketkumnuen U, Chewonarin T, Dhumtanom P, Lertpraseartsuk N, Wild CP. Aflatoxin-albumin adduct formation after single and multiple doses of aflatoxin B1 in rats treated with Thai medicinal plants. Mutat. Res. 1999; 48(1): 345-351.
- วิริยา เจริญคุณธรรม, ปรัชญา คงทวีเลิศ, อุษณีย์ วินิจเขตคำนวณ การเหนี่ยวนำเอ็นไซม์ดีที-ไดอะฟอเรส โดยสารสกัดจากหญ้าปักกิ่ง ใบมะกรูด และตะไคร้ เชียงใหม่เวชสาร 2537; 33(2): 71-77.
- พิมลวรรณ ตันยุทธพิจารณ์, วัลลา รามนัฐจินดา, พรรณี พิเดช การศึกษาความเป็นพิษเฉียบพลันของหญ้าปักกิ่งในหนูขาว สารศิริราช 2534; 48: 458-66.
- พิมลวรรณ ตันยุทธพิจารณ์, เพียงจิต สัตตบุศย์, พรรณี พิเดช พิษกึ่งเรื้อรังของหญ้าปักกิ่งในหนูขาว สารศิริราช 2534; 48(8): 529-533.
แหล่งข้อมูล : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
ลูกชายป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว(AML)ระยะสุดท้ายตอนนี้คุณหมอหยุดคีโม รักษาตามอาการค่ะ น้องทานหญ้าปักกิ่งำด้มั้ยค่ะ น้องกินคีโมแคปซูลกดภูมิค่ะ ทาน3เม็ดเช้าเย็น แม่อยากให้น้องมีชีวิตที่ดีขึ้นและยืดอายุน้องให้นานขึ้นด้วยค่ะ ช่วยตอบด้วยนะค่ะ หนึ่งในความหวังของแม่ค่ะ ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ (หาซื้อได้ที่ไหนบ้างค่ะ อยู่ภูเก็ตค่ะ)
ตอนนี้สามีเป็นมะเร็งอยู่ แพร่กระจายแล้ว รักษาตัวอยู่ต่างประเทศ, พี่ชายดิฉันแนะนะเรื่องหญ้าปักกิ่ง อยากจะลองดู หาซื้อได้ที่ไหน? ส่งมาเยอรมันนีได้ไหม? อาจจะซื้อเอง และส่งเองจากเมืองไทยมาที่นี่, จะมีปัญหาอะไรเรื่องนำเข้าไหม? ไม่สะดวกใช้สด ถ้าใช้แบบแคปซูล ผลจะได้รับเท่ากันไหม? .. ขอขอบคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบค่ะ.